การเลื่อนชั้น

เมื่อเด็กปฐมวัยก้าวไปสู่ในระดับประถมศึกษา

การเลื่อนชั้น ถือเป็นเรื่องปกติในระบบการศึกษา เพราะเมื่อนักเรียนได้ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับที่กำลังเรียนอยู่แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเลื่อนชั้น เพื่อไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีทักษะความรู้ที่เพียงพอและเหมาะสมกับคุณวุฒิและวัยวุฒิที่เติบโตขึ้น

การเรียนรู้ในแต่ละระดับชั้นนั้นจะใช้เวลาระดับชั้นละ 1 ปีการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่แบ่งเป็นการศึกษาปฐมวัย (2-3 ปี) การศึกษาระดับประถมศึกษา (6 ปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (6 ปี) ส่วนใหญ่ถ้าไม่ประสบปัญหาใหญ่ทางด้านการเรียน เช่น ขาดเรียนนานจนหมดสิทธิสอบ หรือประสบอุบัติจนไม่สามารถมาเรียนหรือมาสอบได้ นักเรียนส่วนใหญ่ก็จะได้เลื่อนชั้นตามหลักเกณฑ์ปกติ

ซึ่งการเลื่อนชั้นนี้ เราสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การเลื่อนชั้นในระดับ เช่น จากประถมศึกษาปีที่ 1 ไปสู่ประถมศึกษาปีที่ 2 หรือจากมัธยมศึกษาปีที่ 4 ไปสู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นต้น
2. การเลื่อนชั้นต่างระดับ เช่น จากอนุบาล ไปสู่การเรียนระดับประถมศึกษา และในระดับมัธยมศึกษา เป็นต้น

ซึ่งการเลื่อนชั้นในระดับนั้น มักไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นัก เพราะในหลาย ๆ โรงเรียนส่วนใหญ่ครูผู้สอนทั่วไปนอกเหนือจากครูประจำชั้นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ก็ยังคงเป็นครูผู้สอนชุดเดิม ซึ่งทราบและเข้าใจพฤติกรรมของนักเรียนมาแล้วเป็นอย่างดีแล้ว ทำให้นักเรียนสามารถปรับตัวในชั้นเรียนต่อไปได้ง่าย แต่สำหรับการเลื่อนชั้นต่างระดับนั้น จะมีความแตกต่างออกไป

คือการเลื่อนชั้นต่างระดับ จะส่งผลกระทบของนักเรียนค่อนข้างมาก เพราะความแตกต่างในรูปแบบการศึกษาของแต่ละระดับ ทำให้นักเรียนเมื่อก้าวมาสู่ระดับการศึกษาใหม่ อาจมีปัญหาทางด้านการเรียนและการปรับตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้ในระยะยาว สิ่งนี้คือ ปัญหาที่เกิดจากรอยต่อทางการศึกษาที่สำคัญ

สำหรับรอยต่อทางการศึกษาที่มีปัญหามากที่สุดคือ รอยต่อทางการศึกษาระหว่างอนุบาลกับระดับประถมศึกษา เพราะด้วยหลักสูตรที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้การเชื่อมต่อทางการศึกษาในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีปัญหามากที่สุด

ระดับชั้นอนุบาลหรือการศึกษาปฐมวัย จะเน้นการจัดประสบการณ์ให้เด็กมีทักษะและมีองค์ความรู้ต่าง ๆ ผ่านการจัดกิจกรรม 6 กิจกรรม อันได้แก่ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเกมการศึกษา และกิจกรรมเสรี ซึ่งจะเน้นให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นและไม่เร่งเขียนอ่าน โดยจะใช้การสังเกตเป็นการประเมินหลัก ซึ่งในขณะที่ระดับชั้นประถมศึกษา จะเริ่มเข้าสู่การเรียนเป็นวิชาหรือตามกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนมีทักษะความรู้พื้นฐานและสามารถอ่านออกเขียนได้ โดยมีการวัดประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลายมากขึ้นเป็นรายภาคเรียน

และด้วยความแตกต่างกันในจุดมุ่งหมายของการพัฒนาการศึกษานั้น ทำให้เมื่อเด็กปฐมวัยก้าวไปสู่ในระดับประถมศึกษา บางส่วนมักจะประสบปัญหาในด้านการเรียนรู้ เพราะไม่อาจเชื่อมต่อการเรียนรู้จากระดับปฐมวัยสู่ระดับประถมศึกษาได้ ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของการอ่านและการเขียน เพราะในระดับปฐมวัยนั้น การอ่านออกเขียนได้นั้นไม่ใช่จุดเน้นสำคัญ เมื่อเทียบกับการเตรียมความพร้อมและการเสริมสร้างพัฒนาการ เด็กอาจจะเขียนและอ่านได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเร่งให้เด็กเขียนอ่านได้โดยเร็ว ซึ่งแตกต่างจากระดับชั้นประถมศึกษาที่เน้นในเรื่องการเขียนและการอ่านอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถเรียนรู้ในชั้นสูงขึ้นต่อไปได้ ด้วยสิ่งนี้เองทำให้เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้ผ่านการฝึกด้านการเขียนและการอ่านมาก่อน มักประสบปัญหาในด้านการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา

การเลื่อนชั้น

จากงานวิจัยหลายตัวชี้ให้เห็นว่า เราไม่ควรให้เด็กปฐมวัยเร่งเขียนอ่าน แต่ในความเป็นจริง การศึกษาในระดับประถมศึกษานั้นจำเป็นต้องใช้ทักษะการเขียนและการอ่านในการเรียนรู้อย่างมาก ซึ่งทำให้ประโยชน์ที่ได้จากการไม่เร่งเขียนอ่านนั้น อาจไม่เพียงพอหรือไม่ทันที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนได้ เมื่อเทียบกับเด็กปฐมวัยที่ผ่านการฝึกเขียนอ่านมาก่อนแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นความเชื่อของครูประถมศึกษาหลายท่านที่ขัดกับทฤษฏีการศึกษาปฐมวัยโดยสิ้นเชิง ซึ่งความไม่เข้าใจนี้ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาปฐมวัยไปสู่ประถมศึกษา เป็นลักษณะของการครอบงำคือ บังคับให้เด็กปฐมวัยต้องเรียนอ่านเขียนตั้งแต่ระดับอนุบาลเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งถือว่าไม่ใช่แนวทางที่ดี

และด้วยเหตุนี้ การก้าวข้ามจากระดับปฐมวัยไปสู่ระดับประถมศึกษา จึงเป็นก้าวย่างอันยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ โดยแนวทางที่เหมาะสมในการส่งต่อเด็กปฐมวัยไปสู่การเรียนรู้ในระดับชั้นประถมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพนั้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้

1. เปิดโอกาสให้เด็กปฐมวัยได้มีประสบการณ์ทำกิจกรรมร่วมกันกับรุ่นพี่ในชั้นประถมศึกษา
2. ให้ข้อมูลและแนวทางในการประชุมผู้ปกครอง เกี่ยวกับสิ่งที่จำเป็นในการเรียนในระดับประถมศึกษา และเชิญครูผู้สอนหรือผู้บริหารโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ในระแวกใกล้เคียงมาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเรียนในระดับประถมศึกษากับผู้ปกครอง
3. เตรียมความพร้อมให้แก่เด็กปฐมวัยให้มีทักษะทางการเรียนรู้ในด้านวิชาการ และมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
4. มีการปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ และจัดให้มีการเรียนปรับพื้นฐานการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยกับสังคม และสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่
5. วางเป้าหมายและนโยบายของโรงเรียนให้ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องรอยต่อนี้ เพื่อให้ครูผู้สอนและผู้ปกครองได้มีความเข้าใจร่วมกัน
6. มีการประเมินผลเกี่ยวกับการปรับตัวของนักเรียนในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
7. ส่งเสริมให้ครูระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาทำงานร่วมกันในการจัดกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเด็ก
8. มีมาตรการ การจัดทำระบบการดำเนินการเกี่ยวกับรอยต่ออนุบาลสู่ประถมศึกษาอย่างเป็นระบบแบบแผน
9. ส่งเสริมความร่วมมือของครอบครัวกับโรงเรียนด้วยการสื่อสารหลากหลายช่องทางเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

จะเห็นได้ว่ารอยต่อทางการศึกษาระหว่างอนุบาลกับประถมศึกษานั้นมีความสำคัญอย่างมาก และเป็นความท้าทายของสถานศึกษาในการบริหารจัดการรูปแบบของการเชื่อมต่อนี้ เพราะถ้าสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมแล้ว จะช่วยลดปัญหาทางด้านการเรียนของนักเรียนที่ขึ้นมาจากระดับปฐมวัยได้อีกมาก ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเครียดความกดดันที่อาจจะเกิดขึ้นการในการปรับตัวของนักเรียน และทำให้นักเรียนเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีความสุข

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ belukus.net

Releated